วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

ประวัติพระชัยบารมี ตอนที่ 7 “ผมเชื่อแล้ว ไม่ขอลบหลู่ เมื่อเลิกแล้ว ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด” สกลนคร


ในปี 2542 บช.ภ.4 (กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค4 รับผิดชอบ 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน)ได้รับงบประมาณจัดดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของชาติ ผู้บัญชาการ บ.ช.ภ.4 ในขณะนั้น (พล.ต.ท. พิชัย สุนทรสัจบูลย์) ได้จัดทำโครงการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ โดยเน้นหลัก “ผู้เสพคือผู้ป่วย ผู้ค้าต้องกวาดล้างจับกุมดำเนินคดีตามกฏหมาย” จึงเกิดโครงการแสงเทียนของบช.ภ.4 คือมุ่งเน้นให้ความรู้ ให้โอกาส แก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้หลงผิด แจ้งความประสงค์และจุดมุ่งหมายขอเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเด็ดขาด  ซึ่งแต่ละสถานีตำรวจภูธรทั้ง 11 จังหวัด ก็ได้จัดดำเนินการ โครงการแสงเทียนสนองตอบนโยบาย ให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2542

ท่านอาจารย์เขียวได้รับมอบหมายให้ประสานแต่ละจังหวัด แต่ละสถานีตำรวจทั้งภาค4 เข้าดำเนินการบำบัด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และร่างกายของผู้เสพยาเสพติด มิให้กลับไปเสพอีก โดยท่านผู้บัญชาการให้เน้นไปที่ 6 กลุ่มหลักดังต่อไปนี้
  • -      กลุ่มแสงเทียน คือผู้รายงานตัวขอรับบำบัด
  • -      กลุ่มดอกบัว คือกลุ่มที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ
  • -      กลุ่มดอกหญ้า คือ กลุ่มผู้ติดยาเสพติดอยู่ตามชุมชน หมู่บ้านต่างๆ
  • -      กลุ่มพุทธรักษา คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
  • -      กลุ่มดาวโรย คือตำรวจที่ติดสุรา บุหรี่ ที่ต้องการเลิก
กลุ่มที่ต้องโทษจำขังในเรือนจำ ซึ่งจะต้องประสานงานกับผู้บัญชาการเรือนจำและสถานพินิจด้วยตนเอง โดยให้ยึดหลักการประสานงาน “บวร” บ คือ บ้าน, ว คือ วัด และ  ร คือ โรงเรียนและส่วนราชการต่างๆ

จากภารกิจดังกล่าวท่านอาจารย์เขียวจึงได้ตระเวนเดินสายกลับไปกลับมา ระหว่างจังหวัด ค่ำไหนนอนนั่น(นอนในรถยนต์คู่ชีพ) ไม่เว้นแต่ละวัน
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2542 มีการดำเนินการกับกลุ่มดอกบัวครั้งแรกได้เริ่มขึ้นที่สภ.อ.เมืองขอนแก่น ครั้งที่ 2 เริ่มที่สภ.อ.เมืองมุกดาหาร และครั้งที่ 3 ที่สภ.อ.เมืองสกลนคร ซึ่งในขณะนั้นมีท่าน พ.ต.อ. พจน์ มานะขจรเวช ผกก.เมืองสกลนคร ได้นำผู้ต้องกักขังเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมด 32 คน ออกมาบำบัดที่ลานหน้าโรงพัก เวลาช่วงบ่าย โดยท่านอาจารย์เขียวได้อัญเชิญพระชัยบารมีให้กราบไหว้และกล่าวสาบานตนให้สัจจะ ว่าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยว เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด เมื่อพ้นโทษไปแล้ว ต่อจากนั้นก็ได้เริ่มพิธีจิตบำบัด ปรากฏว่าผู้ต้องกักขังทั้งหมดล้มตัวลงนอนกับพื้น มีอาการน้ำลายไหลฟูมฟาย อาเจียน อวกแตกกระจาย ก่อนจบพิธีจิตบำบัด ท่านอาจารย์เขียวได้ถามว่า มีใครจะทดลองสูบบุหรี่มั้ย  ก็มีคนหนึ่งที่เหมือนจะเป็นคนที่ดื้อหัวแข็งได้ขออาสาทดลองสูบบุหรี่ ท่านอาจารย์เขียวก็ให้เขาเอาบุหรี่ของเขาเองออกมาสูบได้ แค่มือคีบบุหรี่ ก็เกิดอาการตัวสั่นเทาอย่างแรง ไม่สามารถสูบได้ แล้วล้มทั้งยืน เหมือนคนจะเป็นลม คนนั้นจึงรีบสลัดบุหรี่ทิ้งทันที  พอได้สติขึ้นมา จึงรีบลุกแล้วเข้าไปกราบที่องค์พระชัยบารมี กล่าวว่า “ผมเชื่อแล้ว ไม่ขอลบหลู่ เมื่อเลิกแล้ว ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด” จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่” ส่วนคนอื่นๆที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ไม่มีใครกล้าสูบบุหรี่อีกเลย จนเป็นที่ฮือฮาในการใช้สมาธิจิตบำบัด  ตามที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2542 หน้า 26 ภูมิภาค ได้ลงข่าวไว้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น